Terms on Hotel – เคยกันไหมคะ ที่เวลาไปพักโรงแรม แล้วพนักงานมาพูดถึงบริการ ลักษณะห้อง หรือตำแหน่งพนักงานด้วยคำที่ฟังแปร่งหูไม่คุ้นความหมาย หรือมีความหมายที่ไม่ตรงกับรูปคำ ตัวอย่างเช่น room service กลับไม่ได้หมายถึงการเข้ามาจัดความเรียบร้องของห้องพักแต่อย่างไร หลายคำยืมมาจากภาษาฝรั่งเศส เนื่องจากเป็นต้นแบบของการให้บริการโรงแรมที่พิถีพิถัน ลองทำความรู้จักกันสักห้าคำกันค่ะ
Wake-Up Call – คงเคยใช้บริการนี้ตามโรงแรม ที่พัก หรืออาคารแบบ service residence กันบ้าง เป็นตัวช่วยปลุกแขกผู้มาพัก มักจะเป็นช่วงตื่้นนอนตอนเช้า ผ่านโทรศัทพ์ วิทยุ หรืออุปกรณ์ส่งเสียงที่อยู่ให้ห้องพัก โดยทำการแจ้งเวลาล่วงหน้าก่อนเข้านอน ในอังกฤษ ใช้คำ alarm call ส่วนประเทศเอเซียใช้คำ morning call แทนก็มี
คำ wake-up call ยังสามารถใช้เปรียบเทียบกับสิ่งที่เป็นสัญญาณเตือนให้ทำการจัดการบางอย่างโดยด่วน หรือเตือนให้ใครบางคนปรับเปลี่ยนทัศนคติหรือพฤติกรรมก็ได้เช่นกัน
ตัวอย่าง :
Please give me a wake-up call tomorrow at six. (กรุณาโทรปลุกฉันตอนหกโมงพรุ่งนี้)
From losing the game yesterday, our team has a significant wake-up call. (การแพ้เกมส์ไปเมื่อวานเป็นสัญญาณเตือนสำคัญต่อทีมเราว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลง)
This is your weight loss wake-up call. (นี่เป็นสัญญาณเตือนว่าคุณต้องลดน้ำหนักเสียแล้ว)
Room Service – เคยเห็นเมนูอาหารเครื่องดื่มที่วางไว้ในห้องพักตามโรงแรมกันบ้างหรือไม่ มักจะมีคำนี้ปรากฏอยู่บนเล่ม แรกเริ่มมาจากการเสิร์ฟอาหารมื้อเช้าบนเตียงนอน โดยอาจจะวางถาดอาหารในห้องให้จัดการเอง หรือมีพนักงานคอยจัดเตรียมบนเตียงระหว่างที่แขกกำลังอาบน้ำอยู่ ภายหลังขยายมาถึงมื้อใดของวันตลอด24ชั่วโมงก็ได้
บริการที่เรียกอีกอย่างว่า in-room dining นี้ มักมีในเฉพาะโรงแรมที่มีระดับ และมักเพิ่มราคาของอาหารให้สูงกว่าปกติด้วย
นอกจากจะสื่อถึงตัวอาหารเครื่องดื่มแล้ว คำนามที่นับไม่ได้คำนี้ยังหมายถึงการบริการดังกล่าวได้ด้วย
ตัวอย่าง :
You can ring room service around the clock at this hotel. (คุณสามารถโทรเรียกหาบริการเสิร์ฟอาหารถึงห้องพักได้ตลอดเวลาที่โรงแรมนี้)
Our room service is available without any extra charge. (บริการเสิร์ฟอาหารถึงห้องพักของเราไม่คิดค่าบริการเพิ่มเติมจากปกติ)
Concierge – คำยืมมาจากภาษาฝรั่งเศสที่ออกเสียงยากสักหน่อยคำนี้ (กง-ซิ-อาร์จ) หมายถึงพนักงานหรือตัวบริการ สำหรับความต้องการจิปาถะต่างๆ ของแขกผู้มาพัก ที่มักอยู่นอกเหนือการจัดการภายในโรงแรมเอง ตั้งแต่จองร้านอาหารข้างนอก เรียกรถ แนะนำเส้นทางทัวร์ แนะนำคลินิกโรงพยาบาล ฯลฯ
ผู้ที่ทำหน้าที่นี้มักเป็นผู้ที่มีความรอบรู้และมีเครือข่ายการบริการอย่างกว้างขวาง โดยมักจะมีมุมหรือโต๊ะเป็นของตัวเองแยกออกมาจากส่วน check-in หรือ front service โดยทั่วไป ตามที่พักอาคารชุดสมัยใหม่ หน้าที่ concierge อาจรวมเช็คการเข้าออกของผู้มาพัก และมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเป็นผู้ที่ทำหน้าที่นี้แทนบ้างก็มี
ความหมายคำยังขยายไปถึง shopping concierge พนักงานหน้าที่พิเศษตามห้างสรรพสินค้า คอยช่วยนักท่องเที่ยว(มักเป็นชาวต่างชาติ)ในการเลือกซื้อสินค้า(ที่มักจะหรูหรา)เป็นจำนวนมาก รวมถึงอำนวยความสะดวกต่างๆ ในการขนไปส่งหรือทำเอกสารคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ด้วย โดยคิดค่าบริการเป็นรายชั่วโมง
ตัวอย่าง :
The concierge’s desk stands nearby the main door, and he is ready to service you 24 hours a day. (โต๊ะพนักงานกงซิอาร์จอยูใกล้กับประตูหลัก และเขาก็พร้อมจะบริการคุณตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง)
We can finally get the last-minute ticket of the opera with the help of the veteran concierge of our hotel. (เราได้ตั๋วโอเปร่าแบบในนาทีสุดท้ายด้วยความช่วยเหลือของกงซิอาร์จมือเก๋าของโรงแรมเรา)
En Suite – เขียน en-suite ก็ได้ ดั้งเดิมมาจากคำ ensuite ที่เขียนติดกันในภาษาฝรั่งเศส หมายถึงต่อเนื่องกัน หรืออยู่ถัดไป ซึ่งนำมาใช้เรียกห้องพักลักษณะพิเศษที่มีสองห้องนอนหรือมากกว่าที่เชื่อมต่อกัน (suite room) โดยมักมีห้องนั่งเล่นใช้ร่วมกัน แต่ภายหลังถูกสื่อในภาษาอังกฤษว่าเป็นห้องพักใดใดที่มีห้องน้ำในตัว มักจะเชื่อมต่อกับห้องนอนโดยตรง ไม่ต้องให้แขกเจ้าของห้องไปใช้ห้องน้ำรวมกับแขกห้องอื่น
ตามที่พักราคาถูกแบบบ้านพักเยาวชน ที่ห้องมักเป็นเตียงนอนรวม (dorm room) และให้ใช้ห้องน้ำร่วมกัน (common bathroom) อาจมีห้องพิเศษ แบบ en suite room ที่ราคาสูงขึ้นมาหน่อยแต่มีห้องน้ำในตัวให้
ตัวอย่าง :
Our student residence has en-suite single bedrooms, as well as shared laundry and kitchen. (อาคารที่พักนักเรียนของเรามีห้องนอนเดี่ยวที่มีห้องน้ำในตัว รวมทั้งห้องซักผ้าและห้องครัวที่ใช้ร่วมกัน)
Don’t worry about the availability of en suite bathroom. (ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีห้องน้ำแบบแยกส่วนตัวให้)
Porter – คือพนักงานที่คอยช่วยถือ/ขนสัมภาระให้กับแขกผู้มาพัก ตามโรงแรม ที่พัก หรือตามสถานีขนส่ง หรือสนามบิน รวมถึงลูกหาบที่ช่วยแบกของให้กับผู้ที่เดินทางตามป่าเขาได้ด้วย เป็นคำที่ยืมมาจากคำกริยาภาษาฝรั่งเศสที่แปลว่า ถือ ขน
ใช้คำ bearer แทนได้เหมือนกัน
ตัวอย่าง :
In this country, you don’t need to give the porter a gratuity. (ในประเทศนี้ คุณไม่จำเป็นต้องให้ทิปกับพนักงานยกของ)
After hailing a porter successfully at the airport exit, we are no more tortured by our heavy luggage. (หลังจากประสบความสำเร็จกับการเรียกหาบริการพนักงานยกสัมภาระได้แล้ว พวกเราก็ไม่ต้องทนทรมานกับกระเป๋าหนักๆอีกต่อไป)