Expressions on “Moon” – รับเทศกาลไหว้พระจันทร์ด้วยสำนวนน่ารู้ที่มีคำว่า ‘moon’ กันเถอะค่ะ สักสามสำนวนที่น่าจะหาโอกาสฝึกใช้กันได้ไม่ยาก แถมยังมีความหมายน่าสนใจอีกด้วย ได้แก่ ‘to be over the moon’, ‘to moon around’ และ ‘to bark at the moon’ ที่จริงยังมีสำนวนอื่นๆ อีกมากมาย มีใครสนใจแนะนำสำนวนอื่นก็ comment กันมาได้นะคะ
To be over the moon: เป็นสำนวนคุณศัพท์วลีแบบ British English ที่ใช้แสดงอาการมีความสุขอย่างสุดๆ ปลื้มปิติ กับบางสิ่งบางอย่าง เริ่มใช้ราวต้นศตวรรษที่ 17 และเป็นที่นิยมในวงการฟุตบอลช่วงทศวรรษ 1970s ใช้บอกเล่าอารมณ์ดีใจเมื่อประสบชัยชนะในการแข่งขัน คำที่ใกล้เคียงกันคือ to be ecstatic, to be delighted รวมถึง to be on top of the world
ตัวอย่าง :
- That candidate is over the moon about his election victory. (ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนนั้นดีใจสุดๆกับชัยชนะ)
- Being nominated for top music awards sent the rocker over the moon. (จากการที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลดนตรีชั้นนำ นักดนตรีร็อกคนนั้นปลื้มใจมาก)
- “At the end of the day, the finish to these games sends everybody home absolutely over the moon,” said Sir Alex Ferguson. (“ในท้ายที่สุดแล้ว การจบเกมส์การแข่งขันเหล่านี้ได้ส่งทุกคนกลับบ้านอย่างปลื้มอกปลื้มใจ” เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสันกล่าว)
- The earth sometimes casts a shadow over the moon. (บางทีโลกก็ทอดเงาลงบนดวงจันทร์ – ในประโยคนี้ ‘over the moon’ มีความหมายตรงตัว ตามการใช้กริยาวลี ‘to cast a shadow over’ ไม่ได้แปลว่าดีใจแต่อย่างใด)
To moon around: กริยาวลี British English นี้ใช้กับอาการที่ใช้ชีวิตอย่างเปล่าประโยชน์ หรือใช้เวลาไปอย่างเสียเวลาไร้เป้าหมาย และมักทำไปอย่างเฉื่อยชาไร้ชีวิตชีวา มักจะเป็นอาการที่เกิดกับคนที่ตกอยู่ในอาการผิดหวังเศร้าสร้อย โดยเฉพาะจากการผิดหวังในความรัก
To moon about เป็นสำนวนแบบ American English ที่ใช้แทนได้ และยังมีสำนวน to loaf around ที่ความหมายใกล้เคียง
ตัวอย่าง :
He mooned about all day. (เขาดูหงอยเหงาเศร้าสร้อยทำตัวเรื่อยเปื่อยไปทั้งวัน)
Please stop mooning around like that. There are many better guys in the world than him. (โปรดหยุดทำตัวไร้ชีวิตชีวาแบบนั้นเสียที มีผู้ชายที่ดีกว่าเขาอีกมากมาย)
To bark at the moon: ในขณะที่ไทยมีสุภาษิต’หมาเห่าใบตองแห้ง’ ซึ่งสื่อถึงคนชอบแสดงท่าอวดเก่งว่าแน่ไม่กลัวใคร แต่กลับไม่ได้กล้าอย่างที่พูด ภาษาอังกฤษก็มีสำนวนที่กล่าวถึงการครางเห่าหอนของสุนัขด้วยเหมือนกัน แต่มาใช้กับพระจันทร์เพื่อสื่อถึงการโวยวาย ร้องขอ หรือลงทุนทำอะไรบางอย่างเพื่อตอบโต้หรือประท้วงบางสิ่ง โดยไร้ประโยชน์ ไม่เกิดผลอะไร สำนวนเปรียบเทียบอาการของสุนัขที่ดูไร้สาระนี้ใช้กันมาเก่าแก่ตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 17
ทั้งนี้ ยังมีสำนวนรูปอื่นที่ใกล้เคียงอย่าง to bay at the moon ที่นำความหมายว่า ‘เห่า’ ของ to bay มาใช้ รวมถึง The moon does not care about the barking dog. ด้วยเช่นกัน
แต่คอเพลงแนว heavy metal อาจจะรู้จักวลีนี้ในฐานะเป็นเพลงดังของนักร้องดังชาวอังกฤษ Ozzy Osbourne ก็ได้
ตัวอย่าง :
Your appeal is useless. You are just barking at the moon. The big boss doesn’t care about it at all. (การร้องเรียนของคุณมันเปล่าประโยชน์ คุณกำลังทำสิ่งที่ไม่มีผลอะไร เจ้านายใหญ่ของเราไม่สนใจมันใดใดทั้งสิ้นอยู่แล้ว)