Dictionary Types – งงกันไหม เวลาไปร้านหนังสือใหญ่ๆ เพื่อเลือกพจนานุกรมที่เหมาะกับตนเองสักเล่ม โดยเฉพาะเมื่อเรียนภาษาไปถึงระดับนึง และอยากขยับจากระดับใช้แบบแปลศัพท์อังกฤษ-ไทย/ไทย-อังกฤษ แนว bilingual dictionary ไปเป็นแบบอังกฤษ-อังกฤษ(monoligual) ซึ่งดูจะมีให้เลือกมากมายพอดู
ลองสำรวจดูกลุ่มประเภทและความแตกต่างอย่างย่อๆ ดังนี้ เผื่อเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจเลือกซื้อค่ะ
• Full-size Dictionary : เป็นชุดใหญ่แบ่งหลายเล่ม หรือเป็นแบบเล่มขนาดใหญ่แบบตั้งโต๊ะ มีจำนวนคำ (entries) เป็นหลายหมื่นหรือถึงแสน บางทีตัวอักษรเล็กและต้องใช้แว่นขยาย เหมาะสำหรับตั้งในมุมค้นคว้า หรือประดับห้องสมุด เพราะเทอะทะเกินกว่าจะใช้งานแบบพกพา
• Defining/Normative/Academic Dictionary : หมายถึงพจนานุกรมภาษาเดียวทั่วๆ ไป ที่มุ่งให้คำจำกัดความ โดยมีตัวเสริมอื่นๆ เช่นรูปผันสำหรับคำกริยา (verbal conjugation form) รูปพหูพจน์สำหรับคำนาม (plural form) วิธีออกเสียง (pronunciation) การแบ่งพยางค์ (syllable) รากคำ (word root) ประโยคตัวอย่าง (sentence example) ฯลฯ ตามแต่ขอบข่ายของกลุ่มผุ้ที่จะนำไปใช้ บรรจุคำศัพท์พื้นฐานราว 2,000 – 3,000 คำ พิมพ์ในรูปเล่มที่สะดวกพก พอจะแบ่งได้คร่าวว่าเป็นระดับ Learner’s สำหรับนักเรียนในระดับประถมหรือมัธยมในฐานะเป็นเจ้าของภาษา หรือชาวต่างชาติที่เริ่มมาเรียนภาษานั้น และ Collegiate สำหรับนักศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยอาจจะเป็นฉบับย่อของ full-size เรียกว่า abridged version อีกที รวมถึงคัดเลือกคำที่เกี่ยวข้องกับความรู้ที่จำเป็นและปรับคำอธิบายให้เหมาะสม ตามระดับชั้น เป็นกลุ่มที่ใช้กันมากที่สุด
• Special Dictionary : ได้แค่พวกเบ็ดเตล็ดแยกย่อย ตามวัตถุประสงค์เฉพาะของการใช้ อาทิ specialized dictionary (ศัพท์เฉพาะทางสำหรับแต่ละสายวิชาชีพ), phrasal (รวมวลีต่างๆ), synonym & antonym (คำเหมือนและคำตรงข้าม ที่บางทีเรียก thesaurus dictionary), rhyming (คำที่มีเสียงสัมผัสเดียวกัน), phonetic (พจนานุกรมด้านสัทศาสตร์ แสดงวิธีออกเสียง), scrabble/crossword (รวมคำที่สามารถนับแต้มในการเล่นเกมส์scrabble หรือ crossword ได้)
• Electronic & Online Dictionary : อันแรก แต่เดิมอยู่ในรูปของgadgetพกพาทรงคล้ายเครื่องคิดเลข ต่อมาพัฒนาเป็นโปรแกรมให้downloadเก็บไว้ใช้ได้ในเครื่อง ส่วนอย่างหลังคือที่สามารถสืบค้นได้จาก browserทั่วไป มีทั้งที่ให้ใช้ฟรีและเสียเงิน ซึ่งนับเป็นเครื่องมือที่มีบทบาทสูงและใช้กันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน
• ทิ้งท้ายนิดด้วยว่าหากต้องการใช้ภาษาอังกฤษในสไตล์ไหน ระหว่าง American English กับ British English ก็ควรเลือกให้ถูกด้วย โดยดูจากคำอธิบายภายในเล่ม หรือจากสำนักพิมพ์ซึ่งพอจะแบ่งได้ตามนี้ กลุ่มของ American English dictionary ได้แก่ American Heritage, Longman และ Merriam-Webster และกลุ่มของ British English dictionary ได้แก่ Oxford, Cambridge และ Collins เว้นเสียว่ามีการระบุเป็นพิเศษในชื่อเล่มของdictionary เล่มนั้น เช่น New Oxford American Dictionary
#aualanguagecenter #englishonline #เรียนภาษาอังกฤษออนไลน์ #เรียนภาษา