Confusion of French dessert terms – ทราบกันดีว่าวัฒนธรรมขนมและของหวานของชาวอังกฤษและอเมริกันรับเอาอิทธิพลจากฝรั่งเศสมาไม่น้อย ซึ่งก็รวมถึงชื่อที่ใช้เรียกด้วย ซึ่งหลายคำกลายเป็นการบ้านที่ต้องเรียนรู้วิธีอ่านคำ เนื่องจากออกเสียงต่างไปจากหน้าตาตามแบบวิธีสะกดของภาษาอังกฤษปกติ เช่น croissant หนึ่งในไม่กี่คำที่คนไทยพอจะคุ้นเคยกันบ้างแล้วว่าต้องอ่านว่า ‘ครัวซง’ ไม่ใช่ ‘ครัวแซนต์’
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อสับสนอยู่ในขนมและของกินรสหวานบางกลุ่ม ซึ่งมักใช้สลับกันอยู่บ้าง และล้วนแต่เชื่อมโยงกับที่มาจากคำภาษาฝรั่งเศส ได้แก่ jam & confiture, éclair & profiterole และ macaron & macaroon ลองมาดูกันค่ะว่าแต่ละคู่มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง
éclair & profiterole – เป็นคำที่คนไทยใช้สลับกันมากที่สุดคู่คำนึง ด้วยรสชาติและวัตถุดิบที่คล้ายกัน เพราะทำจาก batter ที่ทำจากแป้งสาลีตีไข่และเนยที่นำไปอบให้สุกก่อนเป็นตัวโครงหลักของขนม พอทิ้งให้เย็นแล้วค่อยนำมาใส่ส่วนครีม(หรือไอศกรีม หรือพุดดิ้ง) โดยที่ éclair (เอแคลร์) จะเป็นรูปทรงยาวรี ส่วน profiterole (โปรฟิเตอร์โรล) เป็นทรงออกกลม ขนมทั้งสองชนิดอาจจะตกแต่งส่วนบนด้วยชอกโกแลต น้ำตาลไอซิ่ง หรือน้ำตาลเกล็ดสีๆ ก็ได้ แต่ก่อนอย่างแรกมักจะกินกันสดภายในวันผลิต โดยที่อย่างหลังมักมีไส้เป็นไอศกรีมและแช่เย็นให้แข็งเก็บไว้กินภายหลัง แต่ปัจจุบันก็สามารถพบในรูปแช่แข็งได้ทั้งสองชนิดเพื่อความสะดวกในการพร้อมกิน
jam & confiture – แยม (หรือ ‘แจม’) กับ ‘กงฟิตูร์’ ไม่ได้เพียงแต่ต่างกันตรงที่คำหลังเป็นคำยืมตรงจากภาษาฝรั่งเศสเท่านั้น แต่รวมถึงวิธีและสูตรที่ทำด้วย อย่างแรกจะใส่ปริมาณผลไม้ลงไปผสมน้อยกว่าอย่างที่สอง และมักจะบดละเอียดก่อนหน้าผสมน้ำตาลหรือกวนจนเละจนไม่ค่อยเหลือเป็นเนื้อผลไม้ให้เห็น เหลือแต่เพียงเนื้อวุ้นหวานใสนิดๆ โดยที่พอเดาได้ว่าวัตถุดิบมาจากผลไม้อะไรจากสี รวมถึงเมล็ดที่อาจเหลือไว้ ในขณะที่อย่างหลังจะมีเนื้อสัมผัสของผลไม้ที่เข้มข้น บางสูตรอาจจะไม่กวนจนเนียน แต่ปล่อยทิ้งให้เป็นเนื้อหยาบๆ อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติก็ขึ้นอยู่กับผลไม้แต่ประเภทด้วย บางชนิดหากไม่ละเอียดก็จะนำมาป้ายทาไม่ได้ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของของกินกลุ่มนี้
อาหารถนอมเก็บกินได้นานในกลุ่มนี้ยังรวม marmalade (คล้ายแยมแต่ใช้ผลไม้ตระกูลส้มมากวนโดยใส่เปลือกผิวที่มีรสออกขมซอยหั่นลงไปด้วย) และ chutney (ผลไม้หรือพืชหัวนำมาแปรรูปคล้ายแยม แต่ใส่น้ำส้มสายชูและเครื่องเทศลงผสมตามอิทธิพลที่ได้รับมาจากอาหารอินเดีย มักทำจากมะม่วง แอปเปิ้ล รวมถึง หัวหอมใหญ่ และมะเขือเทศ)
macaron & macaroon – แม้ว่าจะสะกดคล้ายกัน แต่ขนมทรงกลมทั้งสองชนิดกลับแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
ในขณะที่ macaron (มาการง) มีต้นกำเนิดมาจากฝรั่งเศส(ซึ่งว่ากันว่ารับมาจากอิตาลีอีกทอดหนึ่ง) ทำจากไข่ขาวตีฟูผสมกับแป้งอัลมอนด์และน้ำตาลเป็นหลักมาอบให้กรอบร่วน โดยอยู่ในรูปฝาทรงกลมออกแบนสองด้านประกบโดยมีใส่ครีมรสชาติต่างๆอยู่ตรงกลาง ส่วน macaroon (มักคารูน) ว่ากันว่าคือขนมที่คนอเมริกันพลิกแพลงจากmacaron แต่ใช้มะพร้าวหั่นละเอียดแห้งเป็นส่วนประกอบแทนอัลมอนด์ มีรูปร่างเป็นเพียงก้อนออกกลม เนื้อสัมผัสหยาบ มีความหนืดและฝืดคอนิดๆ คล้ายกับขนมโสมนัสของไทย ทั้งสองอย่างมีการพัฒนาสูตรให้หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะmacaron ที่ทำและเก็บรักษายากกว่าและมีราคาแพง